ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา เอเชียได้ก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกมากขึ้นตามลำดับ ดังคำกล่าวที่ว่า “เอเชียเปรียบเสมือนอู่ข้าวอู่น้ำของโลก” มูลค่าการส่งออกและนำเข้าของเอเชียคิดเป็นสัดส่วนราว 1 ใน 4 ของมูลค่าการส่งออกและนำเข้ารวมของโลก ทำให้หลายฝ่ายมองว่าเอเชียกำลังก้าวเข้ามาเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของโลกตัวใหม่ ถนนทุกสายกำลังมุ่งหน้าสู่เอเชียไม่ว่าจะเป็นการค้า การลงทุน รวมถึงเงินทุน เรียกได้ว่าโลกกำลังเข้าสู่ยุคสมัยแห่งเอเชียอย่างแท้จริง
ประเทศไทยเป็นหนึ่งประเทศที่ทั่วโลกกำลังจับตามอง ซึ่งประเทศไทยเองควรต้องรู้จักใช้ประโยชน์จากยุคสมัยแห่งเอเชียให้เต็มประสิทธิภาพ แนวทางหนึ่งที่จะผลักดันการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยได้อย่างเต็มที่ คือการรวมกลุ่มเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยสามารถใช้ประโยชน์จากตลาดขนาดใหญ่ได้มากขึ้น
ก่อนที่ผู้เขียนจะได้นำเสนอทัศนะเกี่ยวกับอนาคตประเทศไทยสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) นั้น ผู้เขียนขออนุญาตอธิบายรายละเอียดความเป็นมานับตั้งแต่การก่อตั้งอาเซียน หรือ สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(Association of Southeast Asian Nations : ASEAN) จนได้วิวัฒนาการมาสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เพื่อเป็นการปูพื้นฐานความเข้าใจให้แก่ผู้อ่านมากยิ่งขึ้น
AEC เกิดขึ้นจากการก่อตั้งอาเซียน หรือ สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of Southeast Asian Nations : ASEAN) ตั้งแต่ปี 2510 ตามปฏิญญาอาเซียน หรือปฏิญญากรุงเทพฯ โดยทิศทางการวางแผนด้านเศรษฐกิจของอาเซียนเริ่มชัดเจนมากขึ้นหลังจากการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งแรกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2519 โดยผู้นำอาเซียน 5 ประเทศ ได้ลงนามร่วมกันในเอกสารสำคัญ 2 ฉบับได้แก่ Declaration of ASEAN และ Treaty of Amity and Cooperation in Southeast Asia ที่ระบุความร่วมมือทางเศรษฐกิจหลายด้านเพื่อการดำเนินการต่อไป ต่อมาในช่วงปี 2521- 2540 อาเซียนได้ขยายความร่วมมือในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น ความตกลงที่สำคัญที่สุดคือ การจัดตั้ง “เขตการค้าเสรีอาเซียน” (ASEAN Free Trade Area : AFTA) การเจรจาเพื่อตกลงจัดทำเขตการค้าเสรีได้ทำให้เกิดความร่วมมือทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคและยังขยายออกไปนอกภูมิภาค วิวัฒนาการนี้ได้ดำเนินต่อมาจนถึงปัจจุบัน
จุดเปลี่ยนสำคัญสำคัญสำหรับการจำตั้ง AEC เกิดขึ้นในช่วงระหว่างปี 2541 – 254 เนื่องจากได้เกิดวิกฤตการเศรษฐกิจโลกถดถอยอย่างรุนแรง ทำให้อาเซียนจำเป็นต้องวางแผนดำเนินงานด้านเศรษฐกิจให้ชัดเจนยิ่งขึ้นเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งและความสามารถในการแข็งขันของภูมิภาค ผู้นำอาเซียนจึงได้เห็นชอบต่อแผนปฏิบัติฮานอย (Hanoi Plan of Action) ในปี 2541 เพื่อใช้เป็นแผนการดำเนินงานให้บรรลุวิสัยทัศน์อาเซียน ประกอบกับกระแสความเจริญด้านเทคโนโลยีโลกาภิวัฒน์ และความล่าช้าในการเจรจาพหุภาคีจอง WTO ทำให้อาเซียนเข้าสู่การเจรจาจัดทำเขตการค้าเสรีกับประเทศต่าง ๆ ทั้งในและนอกภูมิภาคตามที่ได้กล่าวไปข้างต้น นอกจากนี้ประเทศจีนและอินเดียเข้ามามีบทบาทอย่างมากในภูมิภาคในช่วง 3-5 ปี ที่ผ่านมาและเป็นแหล่งดึงดูดในด้านเศรษฐกิจสำคัญ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอาเซียนแต่ละประเทศที่มีเศรษฐกิจเล็กมาก
ด้วยเหตุดังกล่าวจึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้อาเซียนต้องเร่งดำเนินการรวมกลุ่มภายในระหว่างประเทศสมาชิกให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นเพื่อนำไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในลักษณะคล้ายคลึงกับประชาคมเศรษฐกิจยุโรป(European Economic Community: EEC) ผู้นำอาเซียนในขณะนั้น จึงได้ประกาศให้การรวมกลุ่มต้องเสร็จสิ้นภายในปี 2563 ตามแถลงการณ์บาหลี ฉบับที่ 2 (Bali Concord II) เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2546 กระทั่งในปี 2550 ผู้นำอาเซียนได้เร่งรัดเป้าหมายของการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จากเดิมที่กำหนดเป้าหมายไว้ในปี 2563 เป็นปี 2558 เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปลงไปและได้ลงนามในกฎบัตรและปฏิญญาว่าด้วยแผนงานการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community Blueprint) ซึ่งจะเป็นแผนงานสำหรับการดำเนินการตามพันธกรณีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปสู่การจัดตั้ง AEC ต่อไป เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2550
AEC Blueprint
AEC Blueprint มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อกำหนดทิศทางและแผนงาน ในด้านเศรษฐกิจที่จะต้องดำเนินการให้ชัดเจนตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด จนบรรลุเป้าหมายของ AEC ในปี 2558 (ค.ศ.2015) และสร้างพันธะสัญญาระหว่างประเทศสมาชิกที่จะดำเนินการไปสู่เป้าหมายดังกล่าวร่วมกัน ประกอบด้วย 4 ส่วนหลัก กล่าวคือ
- การเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียว (Single market and Production base) : ให้การเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน แรงงานและเงินทุนอย่างเสรีมากขึ้น โดยมีเป้าหมายคือ ลดอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดในด้านต่าง ๆ ลงและเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นให้กับบุคคล/นิติบุคคลสัญชาติอาเซียน
- การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของอาเซียน : โดยใช้มาตรการยกเลิกภาษีสินค้าให้กับประเทศสมาชิกอาเซียน ตลอดจนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ
- การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเสมอภาค : เพื่อเป็นการลดช่องว่าวของระดับการพัฒนาระหว่างประเทศสมาชิกทั้งเก่าและใหม่ พร้อมทั้งสนับสนุน SMEs และร่วมมือกันในโครงการต่างๆ เช่น ความร่วมมือด้านการเกษตร อาหารและป่าไม้ ทรัพย์สินทางปัญญา การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมและ เทคโนโลยีสารสนเทศ ความร่วมมือด้านพลังงาน เป็นต้น
- การบูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจโลก : ส่งเสริมการรวมกลุ่มเข้ากับประชาคมโลก ด้านนโยบายเศรษฐกิจของอาเซียนกับประเทศภายนอกภูมิภาค
ประโยชน์และผลกระทบของประเทศไทยจาก AEC Blueprint
ปัจจุบันอาเซียนนับเป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับหนึ่งของไทยมากกว่า EU หรือ US หรือญี่ปุ่น และมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ในด้านการค้าและการลงทุนอาเซียนจัดเป็นตลาดสำคัญและมีศักยภาพ ด้วยประชากรราว 600 ล้านคน มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ รวมกันกว่า 1.6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ นับเป็นกลุ่มทางเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่กลุ่มหนึ่งของโลก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น